Please use this identifier to cite or link to this item: https://ir.stou.ac.th/handle/123456789/11386
Title: มาตรการป้องกันและยับยั้งมิให้กระทำความผิดซ้ำในคดีความผิดอันยอมความได้
Other Titles: Measures to prevent and deter form committing repeat compoundable offenses
Authors: วรรณวิภา เมืองถ้ำ, อาจารย์ที่ปรึกษา
กิตติ อินนาคกูล, 2524-
มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช. สาขาวิชานิติศาสตร์
Keywords: การกระทำผิดซ้ำ
ความผิดอันยอมความได้
การศึกษาอิสระ--กฎหมายอาญาและกระบวนการยุติธรรม
Issue Date: 2564
Publisher: มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช
Abstract: การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ (1) ศึกษาแนวคิดและหลักกฎหมายคดีความผิดอันยอมความได้ แนวคิดเกี่ยวกับการกำหนดความรับผิดทางอาญา และแนวคิดเกี่ยวกับการนำวิธีการเพื่อความปลอดภัยมาใช้ในคดีอาญา (2) ศึกษากฎหมายเกี่ยวกับความผิดอันยอมความได้ในประเทศไทยและต่างประเทศ ได้แก่ สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ประเทศญี่ปุ่น และประเทศอังกฤษ รวมถึงศึกษารูปแบบการลงโทษของสาธารณรัฐฝรั่งเศส (3) ศึกษาวิเคราะห์ปัญหากฎหมายที่เกี่ยวข้องกับมาตรการบังคับใช้กับคดีความผิดอันยอมความได้ที่ผู้เสียหายถอนคำร้องทุกข์ ถอนฟ้องหรือยอมความ รวมถึงมาตรการเกี่ยวกับความผิดที่เกิดจากการสั่งจ่ายเช็ค และคดีพกพาอาวุธปืนที่มีเครื่องหมายทะเบียน (4) เสนอแนะแนวทางแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับมาตรการบังคับใช้กับคดีความผิดอันยอมความได้ที่ผู้เสียหายถอนคำร้องทุกข์ ถอนฟ้องหรือยอมความ รวมถึงคดีความผิดที่เกิดจากการสั่งจ่ายเช็ค และคดีพกพาอาวุธปืนที่มีเครื่องหมายทะเบียน การศึกษานี้เป็นการวิจัยทางกฎหมายโดยการศึกษาเชิงคุณภาพ ด้วยการศึกษาจากเอกสารกฎหมายว่าด้วยหลักการและแนวคิดเกี่ยวกับความผิดอันยอมความได้ แนวคิดเกี่ยวกับการกำหนดความรับผิดทางอาญา และแนวคิดในการนำวิธีการเพื่อความปลอดภัยมาใช้ในคดีอาญา บทบัญญัติแห่งกฎหมาย ตำรา บทความทางวิชาการ งานวิจัย ตัวบทกฎหมาย คำพิพากษาของศาล ทั้งของประเทศไทย และกฎหมายต่างประเทศ โดยผู้ศึกษาทำการสังเคราะห์และวิเคราะห์ข้อมูลเชิงคุณภาพจากเนื้อหาที่ได้จากการศึกษาเอกสารและการทบทวนวรรณกรรม เพื่อนำมาเป็นแนวทางในการเสนอแนะแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับมาตรการป้องกันและยับยั้งกระทำความผิดซ้ำในความผิดอันยอมความได้ ความผิดที่เกิดจากการสั่งจ่ายเช็ค และการพกพาอาวุธปืนที่มีเครื่องหมายทะเบียน ผลการศึกษาพบว่า (1) ตามแนวคิดและหลักกฎหมายของคดีความผิดอันยอมความได้ และแนวคิดเกี่ยวกับการกำหนดความรับผิดทางอาญา แม้ความผิดอันยอมความได้เป็นความผิดที่มีผลกระทบต่อเอกชนเป็นการส่วนตัวมากกว่าสังคม แต่ตามแนวคิดเกี่ยวกับการกำหนดความรับผิดทางอาญา การที่รัฐกำหนดให้ความผิดอันยอมความได้เป็นความผิดอาญาและกำหนดโทษไว้แสดงว่ารัฐให้ความสำคัญว่าความผิดอันยอมความได้นั้นก็มีผลกระทบต่อสังคมด้วย มิฉะนั้นแล้วก็ควรกำหนดให้เป็นเรื่องความรับผิดทางแพ่ง ส่วนแนวคิดเกี่ยวกับการนำวิธีการเพื่อความปลอดภัยมาใช้ในคดีอาญา วิธีการเพื่อความปลอดภัยเป็นวิธีการป้องกันไม่ให้มีการกระทำความผิด รวมถึงมิให้มีการกระทำความผิดเกิดขึ้นซ้ำอีกในอนาคต รัฐจึงต้องมีมาตรการบางอย่างมาบังคับใช้เพื่อลดความเป็นอันตรายของบุคคลนั้น (2) สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีและประเทศญี่ปุ่น มีบทบัญญัติความผิดบางฐานที่มีลักษณะคล้ายคลึงกับความผิดอันยอมความได้ ส่วนประเทศอังกฤษ แม้ไม่มีกฎหมายบัญญัติไว้เฉพาะว่าความผิดประเภทใดเป็นความผิดอันยอมความได้ แต่ในการดำเนินคดีอาญานั้นได้ใช้หลักการดำเนินคดีอาญาโดยประชาชน โดยมีหลักว่า ประชาชนทุกคนมีหน้าที่ร่วมกันรักษาความสงบเรียบร้อยของสังคม ดังนั้น เมื่อเกิดการกระทำความผิดขึ้นประชาชนจึงเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบด้วย อำนาจฟ้องจึงเป็นของประชาชนทุกเรียบร้อยของสังคม ดังนั้น เมื่อเกิดการกระทำความผิดขึ้นประชาชนจึงเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบด้วย อำนาจฟ้องจึงเป็นของประชาชนทุกคน ในการดำเนินคดีอาญาตามกฎหมายทั้งสามประเทศดังกล่าว แม้เป็นความผิดประเภทที่เอกชนได้รับความเสียหายมากกว่าสังคม แต่ในการดำเนินคดีก็คำนึงถึงความสงบสุขของสังคมเป็นข้อสำคัญด้วย ส่วนรูปแบบการลงโทษของสาธารณรัฐฝรั่งเศส ได้แบ่งโทษอาญาเป็นหลายลักษณะ เพื่อให้สามารถนำโทษมาใช้บังคับได้เหมาะสมกับผู้กระทำความผิดแต่ละคน และโทษบางอย่างนำมาใช้เพื่อป้องกันสังคมจากอันตรายที่อาจเกิดจากผู้กระทำความผิดนั้นในอนาคต ได้แก่โทษเสริม และโทษห้ามหรือจำกัดสิทธิ (3) การที่กฎหมายบัญญัติให้การกระทำใดเป็นความผิดอาญา แสดงว่าหมู่ชนส่วนมากเห็นว่าการกระทำเช่นนั้นเป็นการกระทำที่กระทบกระเทือนต่อสังคม และมิอาจให้อภัยได้ การที่กฎหมายบัญญัติให้ความผิดอันยอมความได้เป็นความผิด แสดงว่าผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการกระทำความผิดมิใช่มีผลกระทบต่อเอกชนเฉพาะรายเท่านั้น เมื่อคดีความผิดอันยอมได้ต้องยุติลงด้วยการถอนคำร้องทุกข์ ถอนฟ้องหรือยอมความ จึงอาจทำให้ผู้กระทำความผิดไม่ยำเกรงต่อกฎหมาย หากมีโอกาสก็อาจกระทำความผิดซ้ำอีก ส่วนความผิดที่เกิดจากการสั่งจ่ายเช็ค หากเช็คนั้นถูกธนาคารการปฏิเสธการจ่ายเงิน ย่อมทำให้การชำระหนี้ด้วยเช็คขาดความน่าเชื่อถือ อันส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจตามมา และความผิดเกี่ยวกับการพกพาอาวุธปืนที่มีเครื่องหมายทะเบียน กรณีที่ยังไม่ได้นำอาวุธปืนไปใช้ทำผิดอย่างอื่น ในการพิพากษาลงโทษศาลต้องใช้บทลงโทษตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ มาตรา 72 ทวิ ซึ่งเป็นกฎหมายบทหนักที่สุด ศาลจึงไม่อาจริบอาวุธปืนตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 371 ได้ โทษตามกฎหมายจึงยังไม่อาจคุ้มครองความปลอดภัยในชีวิตและร่างกายของประชาชน อันอาจเกิดมีขึ้นตามมาจากการพกพาอาวุธปืนนั้นได้อย่างเพียงพอ (4) สมควรแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา ในเรื่องวิธีการเพื่อความปลอดภัย ให้ครอบคลุมถึงผู้กระทำความผิดอันยอมความได้ที่คดีสิ้นสุดลงด้วยการถอนคำร้องทุกข์ ถอนฟ้องหรือยอมความ รวมถึงผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับการสั่งจ่ายเช็ค และผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับการพกพาอาวุธปืนที่มีเครื่องหมายทะเบียน ในกรณีที่ผู้กระทำความผิดนั้นมีความเป็นอันตรายต่อสังคม เพื่อคุ้มครองสังคมให้ปลอดภัยจากการกระทำความผิดในลักษณะเช่นเดิมซ้ำอีก รวมถึงอันตรายอันอาจเกิดจากการใช้อาวุธปืนที่มีเครื่องหมายทะเบียนนั้น
URI: https://ir.stou.ac.th/handle/123456789/11386
Appears in Collections:Law-Independent study

Files in This Item:
File Description SizeFormat 
168798.pdfเอกสารฉบับเต็ม16.1 MBAdobe PDFView/Open


This item is licensed under a Creative Commons License Creative Commons