กรุณาใช้ตัวระบุนี้เพื่ออ้างอิงหรือเชื่อมต่อรายการนี้: https://ir.stou.ac.th/handle/123456789/12101
ชื่อเรื่อง: ปัญหาการดำเนินคดีอาญากับผู้ป่วยจิตเวชในชั้นก่อนฟ้อง
ชื่อเรื่องอื่นๆ: The problem of criminal prosecution against psychiatric patients in the previous class
ผู้แต่ง/ผู้ร่วมงาน: ปวินี ไพรทอง, อาจารย์ที่ปรึกษา
จีรศักดิ์ เจ็กนอก, 2522-
มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช. สาขาวิชานิติศาสตร์
คำสำคัญ: มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช. สาขาวิชานิติศาสตร์--การศึกษาเฉพาะกรณี
มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช. วิชาเอกกฎหมายอาญาและกระบวนการยุติธรรม--การศึกษาเฉพาะกรณี
ผู้ป่วยจิตเวช--คดีอาญา
การศึกษาอิสระ--กฎหมายอาญาและกระบวนการยุติธรรม
วันที่เผยแพร่: 2563
สำนักพิมพ์: มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช
บทคัดย่อ: การศึกษาค้นคว้าอิสระนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ (1) ศึกษาถึงแนวคิด ทฤษฎี วิวัฒนาการ แนวทางการดำเนินคดีอาญากับผู้ป่วยจิตเวชและหลักการให้ความคุ้มครองสิทธิ (2) ศึกษาแนวทางในการดำเนินคดีอาญาและการให้ความคุ้มครองสิทธิผู้ต้องหาที่เป็นผู้ป่วยจิตเวชตามหลักสากล (3) ศึกษาเปรียบเทียบ วิเคราะห์ปัญหาแนวทางการดำเนินคดีอาญาและการให้ความคุ้มครองสิทธิผู้ป่วยจิตเวชตามหลักกฎหมายไทยและกฎหมายต่างประเทศ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา ประเทศอังกฤษ และประเทศญี่ปุ่น (4) ศึกษาปัญหาและเสนอแนะแนวทางการแก้ไขกฎหมายเพื่อคุ้มครองสิทธิ ในการดำเนินคดีอาญาผู้ป่วยจิตเวชของประเทศไทย การศึกษาค้นคว้าอิสระเรื่องนี้เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ โดยการวิจัยเอกสาร จากตัวบทกฎหมาย ตำราทางวิชาการ วิทยานิพนธ์ บทความ สื่อข้อมูลอินเตอร์เน็ตและเอกสารอื่นที่เกี่ยวข้อง ผลการศึกษาพบว่า (1) ตามหลักแนวคิด ทฤษฎี แนวทางในการดำเนินคดีอาญากับผู้ป่วยจิตเวชและการให้ความคุ้มครองสิทธิ ผู้ต้องหาต้องมีความสามารถเพียงพอ และความเท่าเทียมกันในการต่อสู้คดีได้ (2) แนวทางดำเนินคดีอาญากับผู้ป่วยจิตเวชตามหลักสากลเป็นหลักประกันและวิธีการนำไปสู่ความถูกต้องชอบธรรมโดยไม่เลือกปฏิบัติในทุกรูปแบบ (3) ในการดำเนินคดีอาญากับผู้ป่วยจิตเวชตามหลักกฎหมายไทยหากไม่มีความสามารถเพียงพอในการต่อสู้คดี ให้งดการดำเนินคดี โดยส่งเข้ารับการรักษา จนกว่าจะต่อสู้คดีได้ ส่วนการดำเนินคดีอาญาผู้ป่วยจิตเวชในต่างประเทศมีแนวทางคล้าย ๆ กันโดยผู้ป่วยจิตเวชต้องมีความสามารถเพียงพอต่อสู้คดีได้หรือต้องมีผู้แทนคดีและต้องมีการตรวจพิสูจน์ถึงความเป็นผู้ป่วยจิตเวชและความสามารถในการต่อสู้คดี เช่น สหรัฐอเมริกา มีศาลเป็นผู้พิจารณาเกี่ยวกับสภาวะจิตโดยการพิสูจน์ความเป็นผู้ป่วยจิตเวชโดยผู้เชี่ยวชาญประเทศอังกฤษ มีคณะลูกขุนเป็นผู้พิจารณาโดยความเห็นของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญอย่างน้อย 2 คน ประเทศญี่ปุ่นหากเป็นผู้ป่วยจิตเวชจะต้องมีการตั้งผู้แทนคดีเพื่อดำเนินการแทน (4) ปัญหาที่พบคือ ในการดำเนินคดีอาญากับผู้ป่วยจิตเวชในชั้นพนักงานอัยการพบว่าหากผู้ต้องหามีอาการป่วยจิตเวชเกิดขึ้น กฎหมายมิได้ให้อำนาจพนักงานอัยการในการสั่งให้แพทย์ตรวจและเสนอความเห็นถึงความสามารถในการต่อสู้คดีได้ จึงต้องย้อนสำนวนกลับไปยังพนักงานสอบสวนเป็นผู้สั่งให้แพทย์ตรวจพิสูจน์ ทำให้กระบวนการดำเนินคดีเกิดความล่าช้าในทางปฏิบัติกระทบกับสิทธิของผู้ต้องหาที่เป็นผู้ป่วยจิตเวช และกรณีที่พนักงานสอบสวนดำเนินคดีกับผู้ต้องหาที่เป็นผู้ป่วยจิตเวชแต่มีความสามารถในการต่อสู้คดีโดยได้ดำเนินคดีเช่นเดียวกับผู้ต้องหาปกติทั่วไป ซึ่งเป็นการใช้ดุลพินิจในเรื่องความสามารถในการต่อสู้คดีเป็นหลักสำคัญมากกว่าอาการป่วยจิตเวช ผู้ศึกษาจึงเสนอแนะว่าควรแก้บทบัญญัติของกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 14 โดยเพิ่มอำนาจส่งตรวจพิสูจน์ความเป็นผู้ป่วยจิตเวชของพนักงานอัยการและควรเพิ่มเติมบทบัญญัติของกฎหมายให้ผู้เกี่ยวข้องเพื่อประโยชน์ของผู้ต้องหา สามารถยื่นแสดงหลักฐานถึงความเป็นผู้มีอาการป่วยจิตเวชและแสดงถึงความสามารถในเรื่องการต่อสู้คดีได้เพื่อเป็นการถ่วงดุลอำนาจของพนักงานสอบสวนในการใช้ดุลพินิจเรื่องความสามารถในการต่อสู้คดีของผู้ต้องหาที่เป็นผู้ป่วยจิตเวชเพียงฝ่ายเดียว
URI: https://ir.stou.ac.th/handle/123456789/12101
ปรากฏในกลุ่มข้อมูล:Law-Independent study

แฟ้มในรายการข้อมูลนี้:
แฟ้ม รายละเอียด ขนาดรูปแบบ 
FULLTEXT.pdfเอกสารฉบับเต็ม10.62 MBAdobe PDFดู/เปิด


รายการนี้ได้รับอนุญาตภายใต้ Creative Commons License Creative Commons